วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

พระราชญาณกวี (บ.ช. เขมาภิรัต)

พระราชญาณกวี (บ.ช. เขมาภิรัต) 

เชื่อว่าหลายคนคงรู้จัก ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ (พระธรรมโกศาจารย์), เชื่อว่าหลายท่านน่าจะรู้จัก ท่านอาจารย์ปัญญานันทภิกขุ (พระพรหมมังคลจารย์), และเชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้จัก ท่านอาจารย์บุญชวน เขมาภิรัต (พระราชญาณกวี)

ไม่เพียงแต่คนอื่นไกล แม้แต่ประชาชนคนปักษ์ใต้เองบางรายยังไม่เคยแม้แต่ได้ยินชื่อของท่าน

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว พระราชญาณกวี หรือ พระอาจารย์บุญชวน เขมาภิรัต หรือ ท่าน บ.ช. เขมาภิรัต รูปนี้ล้วนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งสำหรับความสำเร็จในการธำรงไว้ซึ่งหลักการแห่งความถูกต้องในการดำเนินพุทธศาสนาในประเทศไทย

ทว่าส่วนใหญ่แล้วประชาชนคนพุทธจะรู้จักชื่อเสียงเรียงนามสำคัญเพียงสองท่าน คือ อาจารย์พุทธทาสภิกขุ และ อาจารย์ปัญญานันทภิกขุ

ซึ่งแท้ที่จริง อาจารย์บุญชวน เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่คอยผลักดันอยู่เบื้องหลัง

เป็น น้องคนกลางในพี่น้องร่วมอุทรธรรมของ อาจารย์พุทธทาสภิกขุ และ อาจารย์ปัญญานันทภิกขุ ซึ่งทั้งสามสหายธรรมได้ทำข้อตกลงกันไว้เมื่อทั้งสามได้จำพรรษาที่สวนโมกขพลารามเมื่อครั้ง อาจารย์พุทธทาสภิกขุ ได้กลับไปตั้งรกรากธรรมที่นั่นใหม่ๆ ไว้ คือ “เจตนาที่จะรักษาเกียรติของประเทศไทยเมืองพุทธ ต้องไม่น้อยหน้ากว่าประเทศใด ในการมีพุทธศาสนา”

ซึ่งหลักการดังกล่าวก็เพื่อที่จะต่อสู้กับกิเลสของมหาชนที่เฉยเมยต่อความเป็นปึกแผ่นและความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา

สามเกลอพี่น้อง อาจารย์พุทธทาสภิกขุ เรียกแทนตัวเองและอีกสองพี่น้องสหายธรรมว่าอย่างนั้น


พระอาจารย์บุญชวน เขมาภิรัต เกิดวันจันทร์ที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๐ ณ บ้านสะท้อน หมู่ที่ ๔ ตำบลท่าทองอุแท อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เดิมท่านชื่อ “ชวน อินทเส้ง” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บุญชวน อินทรเศรณี” มี นายบุญช่วย และ นางทรัพย์ เป็นบิดามารดา โดยท่านเป็นน้องคนเล็กสุดในบรรดา ๕ คนพี่น้องร่วมบิดามารดา

พ.ศ.๒๔๘๕ เมื่ออายุได้ ๘ ปี เด็กชายบุญชวน เข้าเรียนประถมที่โรงเรียนวัดจันทร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนใกล้บ้านในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และในปี พ.ศ.๒๔๖๐ ก็ได้เข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ณ โรงเรียนประจำอำเภอกาญจนดิษฐ์ ซึ่งเปิดสอนขึ้นเป็นปีแรก แต่ก็มีเหตุให้ต้องหยุดเรียนไป เพราะในปี พ.ศ.๒๔๖๑ ได้มีโรคระบาดร้ายแรง (อหิวาตกโรค) ในละแวก บิดามารดาจึงขอให้กลับไปอยู่ที่บ้านสะท้อน ตำบลท่าอุแท ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิม

ขณะที่ เด็กชายบุญชวน กลับไปพักอยู่กับพ่อแม่ ก็ได้ถือโอกาสศึกษาวิชาลูกคิด (ซึ่งมีความนิยมกันมากในสมัยนั้น) กับ พระอาจารย์ซ้อน-เจ้าอาวาสวัดประสพ จนมีความชำนาญในเวลาอันสั้น นั่นแสดงให้เห็นชัดว่า เด็กชายบุญชวน มีปฏิภาณไหวพริบดี มีความจำดีเยี่ยม มีแววเป็นปราชญ์ตั้งแต่เด็ก

ปี พ.ศ.๒๔๖๒ โรคระบาดได้สงบลง ประกอบกับทางรัฐบาลได้เปิดโรงเรียนประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้น เด็กชายบุญชวนในวัย ๑๒ ปีจึงได้เข้าศึกษาเป็นนักเรียนรุ่นแรก ศึกษาอยู่ ๕ ปีก็สามารถสอบไล่ได้ประโยคครูมูลในปี พ.ศ.๒๔๖๗

ในวัย ๑๗ ปี นายบุญชวน อินทรเศรณี ก็ได้เริ่มเข้ารับราชการครูในตำแหน่งครูโรงเรียนประชาบาลวัดคูขุด ตำบลบางหมาก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร

พ.ศ.๒๔๖๙ ดำรงตำแหน่งครูโรงเรียนประชาบาลตำบลปากน้ำชุมพร อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร, พ.ศ.๒๔๗๐ ตำแหน่งครูโรงเรียนประชาบาลวัดยางฆ้อ ตำบลบางท่าแซะ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร

ในปี พ.ศ.๒๔๗๐ ครูบุญชวน อินทรเศรณี มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ซึ่งเป็นประเพณีนิยมของคนไทยสมัยนั้นที่ชายไทยเมื่อมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ก็ควรจะต้องบวชเรียนเพื่อให้เป็นญาติใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าในฐานะพุทธบุตร อีกนัยหนึ่งก็เพื่อจะให้เปลี่ยนสภาพตัวเองจาก คนดิบให้กลายเป็น คนสุก

ในฐานะแม่พิมพ์ของชาติ ครูบุญชวน อินทรเศรณี มีใจฝักใฝ่ที่จะให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนมากกว่าที่จะบวช เนื่องด้วยเห็นว่าความรู้ของตนน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ไม่รู้อื่นๆ ได้

ด้วยเสียงรบเร้าจากคนรอบข้างที่พยายามคะยั้นคะยอให้ ครูบุญชวน เปลี่ยนสถานะเป็นพุทธบุตร จึงได้พูดเล่นเชิงท้าทายว่า “ถ้าใครให้จีวรแพร ผมก็จะบวช”

คนรุ่นใหม่อาจมองเป็นเรื่องธรรมดาปรกติ แต่ทว่าในสมัยนั้นการได้ครอบครองจีวรแพรหรือผ้าแพรในสมัยนั้นถือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่อย่างยิ่ง เพราะจีวรแพรเป็นจีวรเนื้อดีที่สุด หายาก และมีราคาสูง และชายใดได้บวชโดยได้ถือครองจีวรแพรถือได้ว่ามีบุญสูง

คนที่มีฐานะร่ำรวยเท่านั้นที่จะได้ครอบครองจีวรแพร

ด้วยเหตุนี้ ครูบุญชวน จึงได้พูดเล่นพูดหัวเชิงท้าทาย เพราะคิดว่าคงไม่มีใครหามาได้แน่

อีกนัย ครูบุญชวน คิดว่าตนเองเป็นแค่ครูบ้านนอกคนหนึ่ง คงไม่มีความสลักสำคัญใดๆ ที่ใครจะมาสนใจหาจีวรแพรมามอบให้

หลังจากพูดเล่นได้ไม่นาน ปี พ.ศ.๒๔๗๑ ครูบุญชวน จึงยอมลาอุปสมบท (เป็นการลาเพื่ออุปสมบทชั่วคราว) เนื่องจากมีใครบางคนตอบรับคำท้าของท่าน จัดหาจีวรแพรมาให้ไตรหนึ่ง ประกอบกับที่ท่านเป็นคนมีนิสัยเด่นมากๆ คือเรื่องของการพูดจริงทำจริง กล้าได้กล้าเสีย และไม่ชอบให้ใครมาท้าทาย จึงทำให้ท่านตกลงปฏิบัติตามวาจาที่เคยลั่นไว้

๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๑ เป็นวันที่ ครูบุญชวน ได้เข้าพิธีบรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสุบรรณนิมิต ตำบลตากแดด อำเภอเมืองจังหวัดชุมพร โดยมี พระครูจุฬามุนีสังฆวาหะ (ดำ ตารโก) อดีตเจ้าคณะจังหวัดชุมพร เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูวาทีธรรมรส (คล้อย วินายโก) อดีตเจ้าคณะอำเภอเมืองชุมพร เป็นพระกรรมวาจาจารย์, พระสมุห์วิชิต ติสสโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์

“เขมาภิรโต” คือฉายาที่พระอุปัชฌาย์ตั้งให้

ซึ่งในเวลาต่อมา ตลอดเวลาที่ท่านเผยแผ่ธรรมในรูปแบบของการเขียนหนังสือและกลวิธีอื่นๆ พระบุญชวน ก็ได้นำเอาฉายามาเป็นนามสกุลในนามแฝง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในนามของ “บ.ช. เขมาภิรัต”

 หลังอุปสมบทแล้ว พระบุญชวน เขมาภิรโต ก็กลับไปสังกัด ณ วัดยางฆ้อ ตำบลท่าแซะ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ด้วยเหตุผลว่าวัดยางฆ้ออยู่ใกล้กับโรงเรียนวัดยางฆ้อ เพราะท่านยังต้องสอนหนังสือควบคู่กับการถือครองเพศบรรพชิต

ยุคนั้นไม่มีกฎหมายห้ามมิให้พระภิกษุรับราชการ อาจเพราะสถาบันสงฆ์ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการศึกษา เมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาจากวัดมาเป็นโรงเรียน บทบาทของพระภิกษุก็ยังเกี่ยงโยงกับการอบรมสั่งสอนให้ความรู้อยู่ เพราะในสมัยนั้นวัดกับโรงเรียนมักตั้งอยู่ใกล้กัน และโรงเรียนส่วนใหญ่จะอยู่ในความอุปถัมภ์ของเจ้าอาวาสวัดนั้นๆ

โดยครูที่เป็นพระภิกษุก็ยังได้รับเงินเดือนจากทางราชการ

ด้วยความที่เป็นคนจริงจังบวกกับเป็นคนที่ชอบศึกษาค้นคว้า เมื่อได้ศึกษาในทางปริยัติ พระบุญชวน เขมาภิรโต เริ่มมองเห็นว่าโลกบรรพชิตนั้นเป็นโลกที่สุขสงบและเป็นโลกที่ตรงกับความต้องการของตัวเองมากกว่า

ไม่นานหลังบวช พระบุญชวน จึงเริ่มคิดที่จะฝากชีวิตไว้ในพระพุทธศานาด้วยการขอครองเพศบรรพชิตตลอดไป

หากแต่เมื่อทบทวนถึงภาระที่ตนยังคงมีต่อทางโลก คือ ภาระการสอนหนังสือในฐานะครู ท่านมองว่าถึงแม้รัฐบาลจะให้โอกาสแก่พระภิกษุที่บวชอยู่นั้นสามารถถือสถานะข้าราชการควบคู่ไปด้วย แต่เมื่อมาไตร่ตรองดูแล้วจึงเห็นว่าการมีสถานะสองแคมเช่นนี้ก็เท่ากับเป็นการเอาเปรียบประชาชน เพราะขณะที่บวชก็ได้อาศัยวัดที่สร้างขึ้นโดยการบริจาคของชาวบ้านเป็นที่อยู่อาศัย ฉันข้าวที่ชาวบ้านใส่บาตรมา แล้วยังได้เงินเดือนจากภาษีอากรของชาวบ้านอีก

อย่างนี้ไม่เป็นธรรมต่อระบบคุณธรรม-พระบุญชวน คิดเช่นนั้น

พ.ศ.๒๔๗๑ ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับปีที่ได้เข้าอุปสมบท พระบุญชวน เขมาภิรโต จึงได้ตัดสินใจลาออกจากราชการเพื่อรักษาระบบความยุติธรรมภายในจิตใจของตนเอง

เดิมทีผู้บังคับบัญชาไม่เห็นด้วย เพราะคาดหวังว่า พระบุญชวน คงจะสึกมาสอนหนังสือต่อ เนื่องด้วยเสียดายในความรู้ความสามารถ แต่ไม่นานผู้บังคับบัญชาจำต้องยินยอมให้ ครูบุญชวน ลาออกจากราชการเพื่อปวารณาเป็นทาสของพระพุทธเจ้าอย่างจริงจัง

ปี พ.ศ.๒๔๗๔ ในขณะที่ท่านเป็นครูสอนนักธรรมอยู่ที่วัดสุบรรณนิมิต ซึ่งเป็นวัดที่ท่านได้อาศัยอุโบสถอุปสมบถ พระบุญชวน มีความคิดที่จะไปศึกษาต่อทางด้านภาษาบาลี ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่เป็นอย่างดี ปีถัดมาท่านจึงได้เดินทางไปศึกษาภาษาบาลีที่กรุงเทพมหานคร โดยศึกษาที่สำนักวัดปทุมคงคา เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร

และจุดเปลี่ยนแห่งสายธารแห่งชีวิตสงฆ์ก็มาถึง

ปี พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นปีที่ พระอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ได้มาศึกษาธรรมที่วัดสัมพันธวงศ์ และช่วงปีนี้เองที่ พระบุญชวน ได้มีโอกาสได้พบกับ พระอาจารย์พุทธทาส เป็นครั้งแรก และทั้งสองได้สนทนาธรรมแลกเปลี่ยนทัศนะกันจนได้รู้ซึ่งกันและกันว่ามีทัศนคติทางธรรมที่ตรงกันอย่างไม่ได้นัดหมาย

การได้พบกับ พระบุญชวน ในครั้งนั้น ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ถึงกับกล่าวว่าเปรียบเสมือนได้พบกับ คัมภีร์ชั้นดี ในชีวิต ซึ่งคำกล่าวดังกล่าวได้ปรากฏในจดหมายที่เขียนถึง คุณธรรมทาส พานิช น้องชายคนสนิทคนเดียวของท่านก่อนที่จะตัดสินใจเดินทางกลับจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อให้กำเนิดสวนโมกขพลาราม

“...ฉันมีโชคดี ซึ่งดีจนฉันรู้สึกว่ามีค่ามาก คือได้เพื่อนคนหนึ่งซึ่งมีความรู้สึกเกี่ยวด้วยชีวิตเหมือนกัน ตรงกันโดยมิได้แนะนำชี้แจงแก่กันและกันเลย เราต่างมีเข็มมุ่งหมายอย่างเดียวกันในกิจการข้างหน้า และเวลานี้ฐานะทางกายใจเหมือนกันทุกอย่าง และถ้ายังโชคดีขึ้นไปอีกเราอาจได้ทำร่วมกันก็ได้...” คืออีกหนึ่งข้อความในจดหมายที่ ท่านพุทธทาส เขียนถึงน้องชายในการตอกย้ำยืนยันว่า พระอาจารย์พุทธทาส และ พระบุญชวน ต่างมีแนวความคิดและเจตนาเดียวกัน

เจตนาที่จะรักษาเกียรติของประเทศไทยเมืองพุทธ ต้องไม่น้อยหน้ากว่าประเทศใด ในการมีพุทธศาสนา

การได้พบกันและอยู่ด้วยกันในครั้งนั้นเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพราะในเดือนเมษายน ปี พ.ศ.๒๔๗๕ ท่านพุทธทาส ก็ตัดสินใจอำลาเมืองหลวงเพื่อเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน ยึดเอาป่าวัดร้างตระพังจิกเป็นที่อาศัยเพื่อศึกษาหาความบริสุทธิ์ในวิชาธรรมที่กำลังถูกเหล่าอวิชชาบิดเบือน

“...สิ่งที่ประทับใจผมอีกอย่างหนึ่งก็คือ ท่านปรารภเสมอว่าไม่ต้องสร้างวัดใหม่ เห็นการสร้างวัดใหม่เป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล เพราะว่าวัดเท่าที่เขาสร้างไว้แล้วไม่มีใครอยู่ ไม่มีใครใช้ประโยชน์ยังมีอยู่มาก ให้ใช้วัดเท่าที่มีอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์สูงสุด กำลังร้างหรือกำลังจะร้างหรือกำลังเป็นหมันอยู่มาก ข้อนี้นับว่าท่านเป็นผู้รอบคอบ เห็นการณ์ไกล เห็นสิ่งที่เป็นความบกพร่องของเราที่ชอบสร้างวัดใหม่กันโดยมาก เป็นวัดร้างเสียเต็มไปหมด...” เป็นหนึ่งในข้อความของ ท่านพุทธทาส ที่กล่าวถึง พระบุญชวน ในเชิงชื่นชมเมื่อครั้งอัดเสียงเพื่อนำไปเปิดในวันบรรจุศพของ น้องคนกลางเนื่องด้วยท่านเองไม่สามารถเดินทางไปร่วมงานได้เพราะปัญหาทางสังขารร่างกาย

ปี พ.ศ.๒๔๗๖ ซึ่งเป็นปีที่ พระบุญชวน เขมาภิรโต กำลังศึกษาภาษาบาลีอยู่ที่สำนักวัดปทุมคงคา ได้มีพระภิกษุชาวอิตาลีรูปหนึ่งที่หันมานับถือพระพุทธศานา ฉายา “พระโลกนาถ ภิกขุ” ได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อประกาศชักชวน พระใจสิงห์ไปศึกษาพระธรรมในประเทศอินเดีย เพื่อเตรียมเป็นธรรมฑูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในทวีปยุโรปกับท่าน

ครั้งนั้นมีพระภิกษุและสามเณรจากทั่วทุกภาคของประเทศเข้าร่วมเดินเท้าไปกับ พระโลกนาถ กว่า ๒๐๐ รูป

และแน่นอน พระบุญชวน เขมาภิรโต เป็นหนึ่งในพระสงฆ์ที่เข้าร่วมเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ในครั้งนั้น พระบุญชวน มีสถานะอยู่ในระดับหัวหน้าพระใจสิงห์โดยปริยาย เนื่องจากเป็นพระภิกษุที่มีความรู้สูง สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษกับ พระโลกนารถ ได้ในระดับดีมากเพียงรูปเดียว

การร่วมจาริกไปกับ พระโลกนารถ ในครั้งนั้นทำให้ พระบุญชวน ได้มีโอกาสพบและทำความรู้จักกับ พระปั่น (ท่านอาจารย์ปัญญานันทภิกขุ) จนได้กลายเป็นเพื่อนสหธรรมิกที่เคารพนับถือกันมาก

เสร็จสิ้นการเดินทาง พระบุญชวน ได้เอ่ยปากชวน พระปั่น ให้ร่วมเดินทางต่อไปอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วยกัน เพื่อจะไปเยี่ยม ท่านพุทธทาสภิกขุ

ครั้นเมื่อทั้งสามได้พบกันและได้มีโอกาสสนทนาธรรมแลกเปลี่ยนทัศนคติกัน จึงทำให้รู้ว่าต่างคนล้วนมีความเห็นและความปรารถนาที่จะพัฒนาฟื้นฟูพระศาสนาในทางสอดคล้องกัน จึงได้สมัครสมานร่วมใจกันสืบสานพระศาสนาด้วยการปวารณาตัวเองขอเป็นพี่น้องร่วมอุทรเดียวกัน โดยยึดเอาธรรมเป็นอุทรใหม่

บัดนั้นเองจึงได้เกิด สามสหายธรรม ขึ้น โดยมี ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ (พระธรรมโกศาจารย์) เป็นพี่ท่าน, ท่านอาจารย์บุญชวน เขมาภิรัต (พระราชญาณกวี) เป็นน้องคนกลาง, และมี ท่านอาจารย์ปัญญานันทภิกขุ (พระพรหมมังคลจารย์) เป็นน้องเล็ก

สักระยะจากนั้น พี่ท่านก็ได้แนะนำ น้องท่านผู้ร่วมอุทรธรรมทั้งสองว่าหากจะทำงานรับใช้พระพุทธศาสนาให้ได้ผลเป็นอย่างยิ่ง ก็ต้องศึกษาพระธรรมคัมภีร์ทางศาสนาให้แตกฉานเสียก่อน และการที่จะศึกษาพระคัมภีร์ต่างๆ ในทางพระพุทธศาสนาให้แตกฉานก็จำต้องมีความรู้ทางภาษาบาลีเป็นพื้น ดังนั้นน้องท่านทั้งสองควรออกเดินทางไปเสาะแสวงหาศึกษาภาษาบาลีอย่างจริงจัง

หลังออกพรรษา พระบุญชวน และ พระภิกษุปั่น จึงได้กราบลา พี่ท่านแยกย้ายกันออกเดินทางไปประกอบกิจเพื่อการศาสนาตามแนวทางพุทธธรรมใหม่ (แนวทางสวนโมกข์)

ไม่นาน สามพี่น้องร่วมอุทรธรรมเดียวกันที่เคยนั่งฉันข้าวและสนทนาธรรมบนห้างในวัดร้างตระพังจิก ต่างก็มีชื่อเสียงรู้จักกันอย่างกว้างขวางในประเทศไทย

ครั้นเมื่อวันเวลาผ่านพ้นไป พระบุญชวน ได้ฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการทั้งทางโลกและทางธรรมมากมาย จนท้ายที่สุดก็ได้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดขันเงิน ตำบลวังตะกอ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ในปี พ.ศ.๒๕๐๗ และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดชุมพร ในปี พ.ศ.๒๕๐๘

ปี พ.ศ.๒๕๑๕ ด้วยความโดดเด่นในผลงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ประกอบกับมีความเด่นในทางด้านงานกวี ทางคณะกรรมการมหาเถระสมาคมจึงมีมติให้เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในพระราชทินนาม “พระราชญาณกวี ชุมพรบุรีคณาธิการ ศาสนภารพินิจ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”

หรือที่รู้จักกันดีในนาม พระราชญาณกวี (บ.ช.เขมาภิรัต)

เวลา ๑๘.๔๕ น. ของวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๑ พระราชญาณกวี (บ.ช.เขมาภิรัต) ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ ณ โรงพยาบาลชุมพรเขตอุดมศักดิ์ โดยแพทย์ลงความเห็นในใบมรณบัตรว่า มรณะด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

สิริรวมอายุได้ ๘๐ ปี ๕ เดือน ๑๑ วัน

--------------------------------------------------------------------------------------


ข้อมูลประกอบการเขียน
๑-นิตยสารธรรมะเพื่อสาระแห่งชีวิต “กำหนดกรรม” ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๓๗ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๖ คอลัมน์ บุคคล-พุทธธรรม (ท่าน บ.ช. เขมาภิรัต)
๒-หนังสือที่ระลึกในโอกาสสำคัญของชีวิต “กวีธรรม” พิมพ์เป็นที่ระลึก อาจริยบูชา ชาตกาล ครบ ๑๐๐ ปี พระราชญาณกวี (บ.ช. เขมาภิรัต) ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐