วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เงาศิลป์



วารสาร "ลานประดู่" วารสารประชาสัมพันธ์วิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๙ ปีการศึกษา ๒๕๕๓






ในชั้นเรียนวิชาวาดเขียน นักศึกษาหลายคนมักรู้สึกดีอกดีใจจนเก็บกลั้นไว้ไม่อยู่ ถึงขนาดกระโดดโลดเต้นโกลาหล เมื่อได้ยินเพื่อนนักศึกษาด้วยกันกล่าวว่าลายเส้นของเขานั้นดูละม้ายคล้ายเคียงกับลายเส้นของประทีป คชบัว, จักรพันธ์ โปษยกฤต, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ฯลฯ หรือกระทั่งคล้ายลายเส้นของผม (ผู้เขียน) เอง ซึ่งเป็นครูผู้รับผิดชอบการสอนวิชาดังกล่าว


แต่คงจะดีกว่าแน่ หากผลงานศิลปะชิ้นเจ๋งของตัวเองไม่มีกลิ่นอายของศิลปินคนใดเลย เพราะนั่นเท่ากับว่าผลงานชิ้นนั้นกำลังเดินทางเข้าสู่แสงสว่างและกำลังหลุดพ้นจากภาวะของ เงา

เงาคือ ความคล้าย ไม่ว่าจะเป็นเงาเสียง เงาเส้น เงาน้ำหนัก เงาหน้าตา หรือแม้แต่เงาที่ตกกระทบจริงๆ ตามตาเห็น แต่ที่สุดแล้วเงาก็คือความมืด ความอับ ความมิดชิด เงามักอยู่ในที่ที่ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครสนใจ และต้องคอยเดินตาม ตัวจริงอยู่เรื่อยไปอย่างไม่รู้จบ

อีกนัยหนึ่ง เงาคือ ลายเซ็นอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวจริง

ที่สำคัญ เงาไม่มีวัน เกิด  


เดาว่าคงเพราะไม่อยากให้นักศึกษาในสังกัดต้องเป็น เงา ครูศิลปะรุ่นเก่าจึงมักไม่ค่อยแสดงฝีไม้ฝีมือให้นักศึกษาได้เห็นมากนักในขณะสั่งสอน เพราะบรมครูรุ่นเก๋าเหล่านั้นท่านรู้เท่าทันดีว่าหากสร้างสรรค์ผลงานให้นักเรียนนักศึกษาได้เห็นบ่อยๆ ความรู้สึก ศรัทธาในตัวครูผู้สอนก็จะเกิดขึ้นภายในใจนักเรียนอย่างแรงล้น จนอาจก่อให้เกิดผลร้ายจนผู้เรียนกลายเป็น เงาเส้นหรือ เงาศิลป์ของครูโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งทั้งหมดทำให้นักศึกษาศิลปะหลายคนหลงเข้าใจผิดคิดไปว่าครูสูงอายุคงหมดไฟไร้ฝีมือ และคงมีเพียงครูศิลป์รุ่นใหม่ไฟแรงเท่านั้นที่ยังคงพึ่งพาได้ในการเป็นต้นแบบที่ดีสำหรับพฤติกรรมการสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย


ลึกๆ นอกจากไม่ต้องการให้ลูกศิษย์เป็นเงาซ้ำรอยตัวเองแล้ว ครูศิลปะโก๋เก๋ายังต้องการ หลีกให้ครูเลือดใหม่ได้เป็นตัวเอกในการขึ้นเวทีเพื่อแสดงความสามารถเรียกแรงศรัทธาจากผู้เรียนอีกด้วย
         
สำหรับนักศึกษา การ เลียนเพื่อเรียนรู้นั้นคงไม่เป็นปัญหา แต่จะเป็นปัญหาทันทีถ้าคิดจะ เลียนเพื่อนำไปเลียนแบบ และปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดกับใครอื่นใดเลยนอกจากจะเกิดกับผู้ลอกเลียนโดยตรง เพราะเขาคนนั้นจะกลายเป็น เงาของคนที่เขากำลังเลียนต่อไปอยู่เรื่อยอย่างไม่รู้จบ หากคิดจะจบก็คงหาทางจบไม่ลง หรืออาจจบลงในสักวัน แต่คงไม่เร็ววันนัก และ หนทางลงคงไม่เป็นไปโดยง่ายดายอย่างแน่นอน

กลายเป็นสร้างพันธนาการให้กับตัวเองด้วยเงาของตัวเองอย่างไม่รู้ตัว


เท่าที่ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับเพื่อนศิลปะในแขนงอื่น ทำให้ผมพบว่าการยอมถวายตัวเป็น เงาของศิลปินที่เขาชื่นชอบนั้นไม่ได้เกิดขึ้นบนถนนสายทัศนศิลป์เพียงเส้นเดียวเท่านั้น ถนนศิลปะสายอื่นก็มี ปรากฏการณ์เงาในลักษณะนี้ไม่แพ้กัน


ไม่ว่าจะเป็นถนนสายภาพยนตร์ สายวรรณกรรม สายดนตรี สายสถาปัตยกรรม สายแฟชั่นดีไซน์ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ต่างเคยเกิด ปรากฏการณ์เงามาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน จนนับปัจจุบัน


บ้างก็ลืมตาอ้าปากได้จนมีโอกาสได้แสดงความเป็นตัวของตัวเองต่อสายตาสาธารณชน แต่ก็มีมากมายที่ยังเป็น เงาอยู่จวบจนทุกวันนี้ ที่สำคัญ บางคนยอมรับสภาพเงาด้วยความมีสติและรู้ตัว แต่ที่แย่คือยังมีอีกหลายคนที่ไม่ยอมรับสภาพเงา ทั้งๆ ที่ตัวเองก็กำลังตกอยู่ในห้วงมืดทึบของเงาอย่างหน้ามืดตามัวจน (แทบ) มองไม่เห็นทางออก


วินทร์ เลียววาริณ นักวรรณกรรมดับเบิ้ลซีไรต์เคยกล่าวว่า “...ยิ่งเดินตามคนอื่นนานเท่าใด ก็ยิ่งถอยห่างจากตัวเองเท่านั้น นานๆ เข้าก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร...”


ท้ายที่สุดในบั้นปลายของชีวิต เงาก็แยกไม่ออกว่าตัวตนที่แท้จริงคืออะไรกันแน่


สำหรับเส้นทางสายศิลปะ การเป็นเงาไม่ใช่เรื่องผิด เพราะไม่มีใครไม่เคยตกเป็นเงาของใคร สถานการณ์เงาเปรียบเสมือน แรงบันดาลใจที่ค่อยบ่มเพาะผลักดันให้เงามีหนทางเลือกในการไขว่คว้าเพื่อค้นหาตัวตนของตัวเอง


แต่การเป็นเงาตลอดไปไม่ว่าจะได้เลือกหรือไม่ย่อมไม่ใช่เรื่องดี


เพราะเมื่อแสงสว่างที่แท้จริงมาเยือน เงาก็ย่อมไร้ที่อยู่




หมายเหตุ-ตีพิมพ์ครั้งแรก ARTCLUB นิตยสาร STARPICS ฉบับ 794
ตีพิมพ์ครั้งที่ ๒ วารสาร "ลานประดู่" วารสารประชาสัมพันธ์วิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๙ ปีการศึกษา ๒๕๕๓

วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ทัศนศึกษาดูงานศิลปกรรม ปี ๒๕๕๔

แผนกศิลปกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี (สาขาวิชาวิจิตรศิลป์ และสาขาวิชาเทคโนโลยีศิลปกรรม)
ทัศนศึกษาดูงานศิลปกรรม ณ กรุงเทพมหานคร
หอศิลป์แห่งชาติ-โรงละครแห่งชาติ-พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ-คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔